"คลัง" แบไต๋ ต่ออายุลดภาษีที่ดิน ลดค่าโอน-จำนองอีก 1 ปี
ข่าวล่ามาเร็ว ACR News ครม.มีมติอนุมัติมาตรการบรรเทาผลกระทบระยะเร่งด่วน 3 ด้าน คือ มาตรการเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน, มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน การลดส่งเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์การว่างงาน และมาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดยการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าอินเทอร์เน็ต
สำหรับกลุ่มอสังหามีมาตรการขยายเวลาอีก 1 ปี ในการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% โดยเจ้าของทรัพย์สินจ่ายภาษีในสัดส่วน 10% ของอัตราเรียกเก็บ ควบคู่กับขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน-คอนโด จาก 3% เหลือ 0.01% โดยรายละเอียดให้รอติดตามมติ ครม.ภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้
มาตรการด้านการเงิน ผ่านช่องทางช่วยเหลือและสนับสนุนนจากแบงก์รัฐ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ) ซึ่งธนาคารรัฐได้ทยอยประกาศมาตรการขยายเวลาพักชำระหนี้ การเสริมสภาพคล่องให้เอสเอมอีและประชาชน โดยมีวงเงินสินเชื่อเหลืออยู่ 2.68 แสนล้านบาท รองรับความต้องการใช้สินเชื่อในช่วงโควิดระบาดระลอกใหม่
โดย ครม.ได้อนุมัติให้ธนาคารออมสิน กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ได้ขยายเวลารับสินเชื่อจนถึง 30 มิถุนายน 2564
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า มีมาตรการดูแลลูกค้าในพื้นที่ 28 จังหวัดความเสี่ยงสูง จำนวน 1.9 ล้านบัญชี เป็นมาตรการพิเศษในเรื่องการพักชำระหนี้ ทั้งแบบพักเงินต้น, พักทั้งต้นทั้งดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ขยายวงเงิน “สินเชื่อเสริมพลังฐานราก” ให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยมีวงเงินเพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาท เปิดให้ลงทะเบียนขอกู้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม-ปลายเดือนมิถุนายน 2564, ลูกค้าเอสเอ็มอีมีการขยายโครงการ “มีที่มีเงิน” ให้วงเงินกู้สูงสสุด 50 ล้านบาท โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่อจาก 5,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า ธนาคารมีมาตรการ “ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” ได้แก่ ลดเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและดอกเบี้ย) นาน 6 เดือน ทั้งลูกค้ารายย่อยและ SMEs ที่มีสถานะปกติ ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าต้องการผ่อน 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดปัจจุบัน ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่มีเวลา 6 เดือน (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ทั้งนี้ มีเพียงมาตรการสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลตที่จะขอลดเงินงวด หรือพักหนี้ได้ไม่เกินเดือน มิถุนายน 2564
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า มีมาตรการ “พักหนี้อุ่นใจ เติมเงินใหม่ไปต่อ”
ประกอบด้วย
1.มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2564
2.มาตรการเติมเงินใหม่เสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อพิเศษ กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาท ช่วง 2 ปีแรก ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% นาน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
ที่มาข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ 14-17 มกราคม 2564
1/15/2021 1:12:25 PM