ตลาดที่อยู่อาศัยเพชรบุรี-ประจวบฯ ก้าวต่อไปสู่ปี 2564
อัพเดตช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 ตลาดที่อยู่อาศัยเมืองตากอากาศอย่างหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับชะอำ จ.เพชรบุรี มีภาวะชะลอตัวหนักมาก
โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในภาคตะวันตก ในช่วงครึ่งแรก ปี 2563 ซึ่งเป็นการสำรวจโครงการบ้านจัดสรรและอาคารชุด ที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย
โดยในช่วงที่ทำการสำรวจ พบว่ามีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขาย ณ ครึ่งแรก ปี 2563 (Total Supply) ทั้งหมด 141 โครงการ จำนวน 5,515 หน่วย มูลค่ารวม 27,423 ล้านบาท
จำแนกเป็นโครงการบ้านจัดสรร 110 โครงการ 2,700 หน่วย มูลค่า 12,798 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด 31 โครงการ 2815 หน่วย มูลค่า 14,625 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีหน่วยเหลือขายจำนวน 4,988 หน่วย และในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวน 594 หน่วย
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคตะวันตก อัตราการเปลี่ยนแปลงของหน่วยที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายยังคงมีอัตราลดลงร้อยละ -31.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (YoY) โดยเป็นการลดลงของบ้านจัดสรร ร้อยละ -14.2 และอาคารชุดร้อยละ -41.9
เมื่อพิจารณาจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ มีจำนวนลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 มากถึงร้อยละ -69.6 หน่วยขายได้ใหม่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ -66.7 และหน่วยเหลือขายมีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ -68.8 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2562
จังหวัดเพชรบุรีมี Total Supply ลดลงมากที่สุด ร้อยละ -41.9 ส่วนประจวบคีรีขันธ์ลดลงร้อยละ -19.8
ในช่วงครึ่งแรก ปี 2563 มีโครงการเปิดขายใหม่รวม 10 โครงการ จำนวน 594 หน่วย มูลค่ารวม 5,982 ล้านบาท เป็นบ้านจัดสรร 9 โครงการ รวม 356 หน่วย มูลค่า 2008 ล้านบาท และอาคารชุด 1 โครงการ จำนวน 238 หน่วย มูลค่ารวม 3,974 ล้านบาท
โดยประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ที่มีโครงการเปิดขายใหม่มากที่สุด 9 โครงการ ประกอบด้วย บ้านจัดสรร 8 โครงการ และอาคารชุด 1 โครงการ รวม 568 หน่วย มูลค่า 5,905 ล้านบาท ส่วนเพชรบุรี เปิดโครงการใหม่ 1 โครงการ เป็นประเภทบ้านจัดสรรทั้งหมด รวม 26 หน่วย มูลค่า 77 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามจำนวนหน่วยเหลือขาย และหน่วยขายได้ใหม่ ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตา โดย ณ ครึ่งแรก ปี 2563 ในภาคตะวันตก มีอุปทานเหลือขายจำนวน 4,988 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 23,373 ล้านบาท จำแนกเป็นบ้านจัดสรร 2,390 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 11,350 ล้านบาท และอาคารชุด 2,598 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 12,024 ล้านบาท
เมื่อจำแนกตามราคาพบว่าหน่วยเหลือขายบ้านจัดสรรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับราคา 3.01 - 5.00 ล้านบาท มีจำนวน 640 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.8 ของหน่วยบ้านจัดสรรที่เหลือขายทั้งหมด ขณะที่อาคารชุดเหลือขายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับราคา 3.01 - 5.00 ล้านบาท มีจำนวน 1,002 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.6 ของหน่วยอาคารชุดที่เหลือขายทั้งหมด
ทั้งนี้ บ้านจัดสรรที่มีมูลค่าหน่วยเหลือขายมากที่สุดอยู่ในช่วง 5.01 - 7.5 ล้านบาท มีมูลค่ารวม 3,435 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.3 ของมูลค่าบ้านจัดสรรที่เหลือขายทั้งหมด ในขณะที่อาคารชุดส่วนใหญ่มีมูลค่าเหลือขายอยู่ในช่วงระดับราคา 3.01 - 5.00 ล้านบาท มีมูลค่ารวม 4,281 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.6 ของมูลค่าอาคารชุดที่เหลือขายทั้งหมด
ขณะที่หน่วยขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 527 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 4,050 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นบ้านจัดสรร 310 หน่วย มูลค่า 1,449 ล้านบาท และอาคารชุด 217 หน่วย มูลค่า 2,602 ล้านบาท
โดยหน่วยบ้านจัดสรรขายได้ใหม่มากที่สุดอยู่ในช่วงราคา 2.01 - 3.00 ล้านบาท มีจำนวน 104 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.5 สำหรับหน่วยอาคารชุดขายได้ใหม่มากที่สุดอยู่ในช่วงราคา 2.01 - 3.00 ล้านบาทเช่นกัน มีจำนวน 45 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.7
ทั้งนี้ บ้านจัดสรรขายได้ใหม่มีมูลค่ามากที่สุดอยู่ในช่วง 3.01 - 5.00 ล้านบาท มีมูลค่ารวม 399 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.5 สำหรับอาคารชุดที่ขายได้ใหม่มากที่สุดอยู่ในช่วง 10 ล้านบาท มีมูลค่ารวม 2,182 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.9
เมื่อแยกตามสถานะของการก่อสร้างของหน่วยเหลือขายทั้งหมด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 46.5 สร้างเสร็จแล้ว รองลงมาอยู่ระหว่างการก่อสร้างร้อยละ 31.9 และที่เหลือร้อยละ 21.6 ยังไม่สร้าง
หากแยกตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.1 ยังไม่ก่อสร้าง โดยอยู่ระหว่างสร้างร้อยละ 40.8 และสร้างเสร็จแล้วร้อยละ 14.1 ขณะที่อาคารชุดส่วนใหญ่ สร้างเสร็จแล้วร้อยละ 76.4 อยู่ระหว่างก่อสร้างร้อยละ 23.6 ตามลำดับ
ด้านอัตราดูดซับ หรือ Absorption Rate ของตลาดที่อยู่อาศัยในภาคตะวันตก ซึ่งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ใช้เป็นเครื่องชี้อุปสงค์ (Demand) ของตลาดที่อยู่อาศัยนั้น การสำรวจในรอบครึ่งแรกปี 2563 พบว่า มีอัตราดูดซับต่อเดือนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 3.3 มาอยู่ที่ร้อยละ1.6
โดยบ้านจัดสรรมีอัตราดูดซับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากร้อยละ 3.1 ลดลงเป็นร้อยละ 1.9
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563
ขณะที่อาคารชุดมีอัตราดูดซับลดลงช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากร้อยละ 3.4 ลดลงเป็นร้อยละ 1.3 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563
สำหรับทำเลที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ทำเลชะอำ เขาหินเหล็กไฟ และเขาตะเกียบ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ประมาณการทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันตก ปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 โดยคาดว่า ณ ครึ่งหลังปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยรอการขายจำนวน 6,788 หน่วย มีมูลค่าหน่วยเหลือขายจำนวน 28,907 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 7,195 หน่วย มีมูลค่าหน่วยเหลือขายประมาณ 30,734 ล้านบาท ในครึ่งแรกปี 2564
ในขณะที่อัตราดูดซับต่อเดือนของบ้านจัดสรร คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในครึ่งหลังปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 ในครึ่งแรกปี 2564 ส่วนอัตราดูดซับต่อเดือนของอาคารชุดคาดว่าจะลดลงมาอยูที่ร้อยละ 1.1 ในครึ่งหลังปี 2563 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 1.2 ในครึ่งแรกปี 2564
สำหรับการเคลื่อนไหวด้านการเปิดตัวโครงการใหม่ประมาณการว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องโดยคาดว่าจะมีการเปิดโครงการใหม่ประมาณ 709 หน่วย ในครึ่งหลังปี 2563 และเปิดใหม่อีก 794 หน่วยในครึ่งแรกปี 2564
ในขณะที่จำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ครึ่งหลังปี 2563 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 2,571 หน่วย มูลค่า 5,554 ล้านบาท และหน่วยโอนกรรมสิทธิ์จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 4,498 หน่วย มูลค่า 6,101 ล้านบาท ในครึ่งแรก ปี 2564 ซึ่งประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้ตัวแปรที่ยังไม่มีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา
11/30/2020 10:34:11 AM